Siamcoverage TH‎ > ‎

นวัตกรรมใหม่ เพื่อเกษตรกรไทย ยุค 5 G Innovation for new normal

posted Oct 30, 2020, 10:15 AM by siam coverage   [ updated Oct 30, 2020, 10:18 AM ]



1 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันที่เปรียบเสมือนการเริ่มต้นก้าวเดินในปีต่อมา ของนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน และปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 33 ของการก่อตั้ง


บานาน่า โซไซตี้ ยกระดับ กล้วยตากบ้านๆสู่ แบรนด์เวิร์ลคลาส ด้วย พาราโบล่าโดม จากกลุ่มแม่บ้านที่ผลิตสินค้าหลังบ้าน ตากกล้วยด้วยแสงอาทิตย์บ้านๆ มีการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พัฒนาระบบการตากกล้วยให้ดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น และมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์มากขึ้น บานาน่า โซไซตี้ (Banana Society) แปลตรงตัว คือ สังคมกล้วย ซึ่งหมายถึงกระบวนการที่เกี่ยวกับกล้วยแบบครบวงจร และนี่คือชื่อของบริษัท ซึ่งคุณวุฒิชัย ชะนะมา ผู้จัดการกล้วยตาก “Banana Society” ก่อตั้งขึ้น
​จากเดิมเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบุปฝา ที่เริ่มจากกิจการกล้วยตากภายในครัวเรือน โดยคุณแม่เป็นหัวเรือใหญ่ ทั้งผลิตเอง ส่งกล้วยสุกให้ลูกบ้านผลิต แต่คัดคุณภาพ เพื่อนำไปส่งขายตามร้านค้าต่างๆ ในจังหวัดพิษณุโลก กระทั่งจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบุปผา เดิมก่อตั้งและจดทะเบียนเมื่อปีพ.ศ.2548 ภายใต้แนวคิด ต้องการเปลี่ยนรูปแบบกระบวนการผลิตกล้วยตากแบบดั้งเดิมให้ได้มาตรฐานระบบการผลิตอาหารปลอดภัย เพื่อยกระดับสินค้าสู่สากล ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยมีทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากรออกแบบสร้างเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์กรีนเฮ้าส์ หรือพาราโบล่าโดม เพื่อลดการปนเปื้อนของกล้วยน้ำว้า อันเกิดจากการตากแดดในที่โล่งแจ้ง อีกทั้งช่วยให้กล้วยมีสีผิวสม่ำเสมอ คงไว้ซึ่งรสชาติที่ดีกว่ากรรมวิธีดั้งเดิม ​ในอดีตกล้วยตาก ก็คือกล้วยตาก ตากสมชื่อ คือต้องตากกับแดดให้ได้ระยะเวลาที่ต้องการ เพื่อให้ได้กล้วยตากรสชาติที่เหมาะสม แต่สำหรับตนเองไม่ต้องการย่ำอยู่กับที่ จึงมีแนวคิดแก้ปัญหาสิ่งบกพร่องที่เกิดจากกระบวนการตากกล้วย เช่น ระยะเวลาการตาก การตากในที่โล่งเกิดปัญหาสภาพอากาศตามฤดูกาล ความสะอาด และระยะเวลาที่สามารถเก็บผลิตภัณฑ์ไว้บริโภค มูลค่าของพาราโบล่าโดม สูงถึง 800,000 บาท และเมื่อนำมาติดตั้งเพื่อใช้งานจริง คุณวุฒิชัย ยอมรับว่า พบปัญหาอีกหลายประการกว่าจะพัฒนามาให้พาราโบล่าโดมได้ผลดี ใช้เวลาต่อเนื่องมาอีกเกือบ 2 ปี พาราโบล่าโดม ช่วยให้กล้วยตากที่ได้ปลอดจากแมลง ฝุ่น มีความสะอาด ทั้งยังช่วยย่นระยะเวลาจากเดิมที่ต้องตากกล้วยนานถึง 7 วัน ลดลง เหลือเพียง 4-5 วันต่อการตากกล้วย 1 ครั้ง ซึ่งช่วยได้ดีในช่วงฤดูฝน ที่การตากกล้วยประสบปัญหามาก ที่นอกจากจะตากกล้วยไม่แห้งตามระยะเวลาแล้ว อาจเกิดเชื้อแบคทีเรียสะสมในกล้วย ก่อให้เกิดปัญหาเน่าเสีย ระยะเวลาจัดเก็บเพื่อบริโภคค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ การตากกล้วยในช่วงระยะเวลาที่แดดน้อย จะทำให้กล้วยสีดำเข้ม และสีไม่สม่ำเสมอ สีออกมาไม่สวย ไม่น่ารับประทาน ​“พาราโบล่าโดม ทำให้ปัญหาที่ผมต้องการแก้หมดไป โอกาสเกิดความสูญเสียน้อยมาก ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์” ​บานานา โซไซตี้ นับเป็นกล้วยตากบางกระทุ่มแห่งแรก ที่นำพาราโบล่าโดมมาใช้ในการตากกล้วยให้ได้มาตรฐาน ​“อย่างที่ผมบอก หลังติดตั้งพาราโบล่าโดมแล้ว ยังประสบปัญหา ซึ่งต้องเรียกว่าอยู่ในขั้นทดลองนานต่อเนื่องมาอีก 2 ปี กว่าจะได้มาตรฐานการผลิต โดยการลงทุนโรงเรือนพาราโบล่าโดมต่อแห่งอยู่ที่ 800,000 บาท ถือว่าไม่สูง เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตที่ทำให้สามารถผลิตกล้วยตากได้มากถึง 1,400 กิโลกรัมต่อวัน ภายในพื้นที่ 160 ตารางเมตร” ไอเดียมากมายผุดขึ้นในความคิดของคุณวุฒิชัย ที่มองเห็นช่องทางการตลาด เขาเห็นว่า การขายกล้วยตากแบบเดิมไม่ว่าจะที่ไหนก็สามารถผลิตได้ แม้ว่ากล้วยตากที่ผลิตได้จากบริษัทของเราจะมีคุณภาพก็ตาม ไม่นานก็จะมีแหล่งผลิตอื่นสามารถทำได้เช่นเดียวกัน จึงมองตลาดให้ไกลกว่านั้น โดยคิดค้นกล้วยตากรสชาติใหม่ๆ เช่น กล้วยตากเคลือบช็อกโกแลต อัลมอนด์ ชาเขียว สตอร์เบอรี่ และอีกหลายรสชาติ เพื่อตีตลาดในกลุ่มที่ไม่ได้ชอบรสชาติกล้วยตากธรรมชาติแต่อย่างเดียว ความสำเร็จของ Banana Society ได้รับการยอมรับและคัดสรรให้เป็นผลิตภัณฑ์โอทอป ซึ่งนอกเหนือจากครองตลาดในประเทศแล้ว ยังส่งออกไปต่างประเทศ สัดส่วนการส่งออกก่อนประสบภาวะโควิด-19 มีมากถึงร้อยละ 35 ของยอดการผลิตทั้งหมด


แพลนท์ แฟคตอรี่ (Plant Factory) โรงงานผลิตพืชแห่งอนาคต Plant Factory หรือ Vertical Farming System-Plant Factory with Artificial Lighting (PFAL) นวัตกรรมในการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงและสม่ำเสมอ มีความแข็งแรงปราศจากโรค แมลง สารเคมีปนเปื้อน และมีเสถียรภาพในการผลิต โดยไม่ขึ้นกับฤดูกาลแห่งผลผลิต และปัจจัยของธรรมชาติ Plant Factory คือ โรงงานผลิตพืช เป็นระบบการปลูกพืชที่ควบคุมสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูก ได้แก่ แสง อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสารละลายธาตุ ช่วยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง ได้ผลผลิตสม่ำเสมอ Plant Factory มีการใช้เทคนิค Soilless Culture ในการปลูกพืช เช่น ระบบไฮโดรโพนิกส์ คือการปลูกพืชโดยให้รากแช่อยู่ในสารละลายโดยตรง สารละลายธาตุอาหารจะไหลผ่านในรางปลูกพืช โดยใช้ปั๊มดูดสารละลายให้ไหลผ่านรางมาที่รากพืช และไหลเวียนกลับมายังถังเก็บสารละลาย ข้อแตกต่างระหว่าง Plant Factory กับ ระบบไฮโดรโพนิกส์ คือ ระบบ Plant Factory สามารถปลูกพืชในแนวตั้งได้หลายชั้น อาจมากถึง 10 ชั้น ซึ่งเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เหมาะกับสถานที่ที่มีพื้นจำกัด โดยชนิดพืชที่เหมาะสมในการปลูกด้วยระบบ Plant Factory ได้แก่ กลุ่มพืชอาหารหลัก เช่น ข้าว ข้าวสาลี มันฝรั่ง และอ้อย กลุ่มพืชเพื่อสุขภาพ เช่น พืชผัก และพืชสมุนไพร รวมถึงไม้ดอก เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับสกัด “สารสำคัญมูลค่าสูง” ป้อนตลาดยา-อาหารเสริม-เวชสำอาง เสริมจุดแข็งทรัพยากร มุ่งสู่เศรษฐกิจชีวภาพ
รูปแบบ Plant Factory แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. โรงปลูกพืชระบบเปิด ชนิดใช้แสงธรรมชาติ (Plant Factory with Sunlight)
2. โรงปลูกพืชระบบเปิด ชนิดใช้แสงธรรมชาติร่วมกับแสงเทียม (Plant Factory with Sunlight and Supplemental Light)
3. โรงปลูกพืชระบบปิด ชนิดใช้แสงเทียมทั้งระบบ (Plant Factory with Fully Artificial Light) ซึ่งรูปแบบ Plant Factory ทั้ง 3 ประเภทนี้ เกษตรกรสามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับเป้าหมายและทุนทรัพย์ของตัวเองได้ แต่ละประเภทมีจุดมุ่งหมาย และตลาดที่แตกต่างกัน จะมีผลรับที่เหมือนกันคือ สามารถให้ผลผลิตที่สม่ำเสมอ ลดต้นทุนค่าแรงงาน และสามารถปรับเปลี่ยนพืชที่ปลูกไปได้เรื่อยๆ


“ฟาร์มลุงแดง” กับการบริหารจัดการน้ำ แบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ที่คลองเจ็ด “ฟาร์มลุงแดง เมล่อน & ผักสลัด” ต้นแบบความสำเร็จของ ศพก.ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตั้งอยู่เลขที่ 26/4 หมู่ที่ 7 ซอยเฉลิมพระเกียรติ 2 ตำบลคลองเจ็ด อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เดิมทีฟาร์มลุงแดง ทำนา ทำสวนส้ม ปลูกตะไคร้ ฝรั่ง เป็นรายได้หลัก ต่อมาประสบปัญหาด้านการตลาด ทั้งเจอโรคแมลงและภัยธรรมชาติรุมเร้าทำให้ผลผลิตเสียหาย มีภาระต้นทุนการผลิตสูง แต่มีรายรับน้อย ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน 


คุณวีรพงศ์ สุโอสถ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ รุ่นที่ 2 ของ ฟาร์มลุงแดง เมล่อน & ผักสลัดได้เข้ามาสืบทอดกิจการครอบครัว เขามุ่งมั่นแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างโอกาสใหม่ โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำกินให้กลายเป็นฟาร์มเมล่อน และปลูกผักสลัด จนประสบความสำเร็จ วันนี้ ฟาร์มลุงแดง เมล่อน & ผักสลัด กลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการเกษตรและแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีชื่อเสียงของจังหวัดปทุมธานี ฟาร์มลุงแดงเริ่มต้นปลูกเมล่อนกลางแจ้ง 3 แปลง แปลงแรก เก็บได้หมด แปลงสอง เก็บได้ครึ่งหนึ่ง แปลงสาม เก็บไม่ได้เลย เพราะสู้แมลงไม่ไหว จึงลงทุนทำโรงเรือนปลูกเมล่อน ปัจจุบัน ฟาร์มลุงแดง มีโรงเรือนปลูกเมล่อน 10 หลัง ปลูกผักสลัด 2 หลัง ปลูกมะเขือเทศ 1 หลัง และเริ่มปลูกแตงโมเป็นพืชเสริมรายได้ พื้นที่ที่เหลือปลูกต้นมัลเบอร์รี่ (Mulberry) หรือลูกหม่อน ซึ่งเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพ ฟาร์มลุงแดงมีพื้นที่ทำกิน 8 ไร่ แบ่งเป็นบ่อน้ำ 4 ไร่ และที่ดินสำหรับเพาะปลูก 4 ไร่ ใช้น้ำจากบ่อตัวเองมา 3 ปีกว่า ไม่เคยใช้น้ำข้างนอกและไม่เคยขาดแคลนน้ำเลยเพราะน้ำฝนมาเพิ่มเติมทุกปี ตัวบ่อมีความลึก 2-3 เมตร กว้าง 10-12 เมตร ต่อมา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ได้เข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดน้ำแบบยั่งยืน โดยติดตั้งเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ระบบควบคุมฟาร์มอัตโนมัติ เพื่อควบคุมการให้น้ำ ให้ปุ๋ย อุณหภูมิ ความชื้นทั้งในอากาศและดิน มีระบบพ่นน้ำ พ่นหมอก พ่นยา และติดตั้งพัดลมระบายอากาศแบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ดังกล่าว นอกจากเก็บข้อมูลจากเซ็นเซอร์ไร้สาย นำมาใช้เป็นสถิติอ้างอิงสำหรับเพาะปลูกพืชในรุ่นต่อไปแล้ว ยังช่วยประหยัดเวลา ลดต้นทุนแรง แค่มีแรงงาน 2 คนก็สามารถดูแลจัดการฟาร์ม 8 ไร่ได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น


หลังจากฟาร์มลุงแดงประสบความสำเร็จในการปลูกเมล่อน แตงโม ผักสลัด ในโรงเรือน โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย “สมาร์ทฟาร์มเมอร์”เป็นตัวช่วย ทำให้การผลิตสินค้าเกษตรกลายเป็นเรื่องง่ายแล้ว ยังได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ปลอดภัยจากสารพิษตามนโยบายอาหารปลอดภัย ทุกวันนี้คุณวีรพงศ์ เปิดฟาร์มลุงแดงให้ผู้สนใจจากทั่วประเทศเข้ามาเยี่ยมกิจการพร้อมเรียนรู้ขั้นตอนการปลูกพืชในโรงเรือนโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางโทรศัพท์ 08-9797-3548
Comments