Siamcoverage TH‎ > ‎

ก.พาณิชย์ดัน“เมืองสตูล" เชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงอาหารและวัฒนธรรมระหว่างอาเซียน"พารานากัน” พร้อมผลักดันทำการประมงอย่างยั่งยืนเป็นจุดขายนักท่องเที่ยว หวังเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

posted Mar 14, 2019, 7:29 PM by siam coverage   [ updated Mar 14, 2019, 7:32 PM ]


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานผู้ประสานงานการประชุมอาเซียน เปิดเผยว่า ในการจัดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 25 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน 2562 ที่ จ.ภูเก็ตนั้น ไทยจะมีการผลักดันวาระเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอาหารของอาเซียน เป็น 1 ใน 13 ประเด็นหารือ โดยได้เตรียมการจัดทำแผนแม่บทการท่องเที่ยวเชิงอาหาร เพื่อร่วมมือกันในด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการผลักดันให้มีการทำการประมงอย่างยั่งยืนนับเป็นอีกประเด็นสำคัญ โดยไทยจะใช้จุดเด่นของอาเซียนที่มีความหลากหลายด้านอาหารและวัฒนธรรมของแต่ละชาติมาเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้อาเซียนเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น 



รวมทั้งได้วางแผนการทำงาน โดยให้สมาชิกไปคัดเลือกเมืองของตนเพื่อประกวดเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอาหารและจัดประกวดกันเพื่อชิงรางวัล โดยรางวัลจะเหมือนมิชลินสตาร์ ซึ่งจะช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในอาเซียนให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ส่วนไทยจะเสนอเส้นทางการศึกษาศิลปวัฒนธรรม "พารานากัน” หรือ บาบ๋า-ย่าหย จังหวัดสตูล เป็นตัวอย่างของเส้นทางที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะผลักดันให้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงอาหารและวัฒนธรรมระหว่างอาเซียน



สำหรับเรื่องที่มีความคืบหน้าอื่น ๆ เช่น การทำประมงอย่างยั่งยืน ได้ผลักดันให้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อเริ่มดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำนโยบายเกี่ยวกับประมง และจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐชายฝั่ง เขตจับปลา เรือประมงที่ได้รับอนุญาต เป็นต้น


ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งโดยปกติแล้วการท่องเที่ยวเชิงอาหารสร้างรายได้ คิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้รวมจาก การท่องเที่ยวทั้งหมด หรือประมาณ 456 พันล้านบาท


สำหรับจังหวัดสตูลนั้น ปัจจุบัน มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงามหลายแห่งทำให้จังหวัดสตูลได้รับเลือกให้เป็นผู้นำในการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของอาเซียน ทั้งในด้านระบบนิเวศชายฝั่งและระบบนิเวศใต้ทะเล อันเนื่องมาจากความงดงามของแนวปะการังและป่าไม้ที่ยังอุดมสมบูรณ์ภายในจังหวัดนอกจากนี้จังหวัดสตูลยังจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในอนาคต เมื่อประชาคมอาเซียนเปิดตัวอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากชายแดนมาเลเซียและการเดินทางที่สะดวกสบาย รวมไปถึงการลงทุนในโครงการต่างๆภายในจังหวัดที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง


สำหรับ สถานที่ท่องเที่ยวใน ROUTEI :ASEAN Peranakan&Nature trail ในจังหวัดสตูลได้แก่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสตูล(คฤหาสน์กูเด็น) อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ถนนบุรีวานิชซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสสมัยรัชกาล 5 มัสยิดกลาง เกาะหลีเปะ วัดชนาธิปเฉลิม ศาลเจ้าโป้เจ้เก้ง เป็นต้น ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่งดงามที่สุดในจังหวัดและไม่ไกลจากเกาะลังกาวีของประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านชาวประมงที่นักท่องเที่ยวสามารถซื้ออาหารทะเลสดๆได้ในราคาถูกและได้เห็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวเลอีกด้วย โดยจุดแข็งของ จ.สตูลที่สามารถอวดโฉมนักท่องเที่ยวอาเซียนได้คือ การเน้นเรื่อง"ชุมชนชาวเล"ซึ่งเป็นชุมชนพื้นเมืองที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5


ด้านนายรชฏ สันทัดการ กรรมการผู้จัดการโรงแรมไอดิลลิค คอนเซ็ปท์ รีสอร์ท เกาะหลีเป๊ะ เปิดเผยว่า ต้องการให้ภาครัฐเร่งจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อ ส่งเสริมการจองห้องพักให้ได้รับ การยอมรับจากระดับสากลโดยเร็ว เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการท่องเที่ยว ต้องอาศัยแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ถึงประมาณ 80% ซึ่งแต่ละรายได้มีการ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมค่าบริการจาก ผู้ประกอบการคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 25% ของราคาห้องพัก โดยเริ่มจากการคิดค่าธรรมเนียม 15% และหากต้องการให้รีสอร์ตอยู่หน้าแรกของเพจก็ต้องเพิ่มอีก 5% นอกจากนี้ยังมีการหักส่วนลดต่าง ๆ ไปใช้เป็นส่วนลดให้ลูกค้าด้วย ดังนั้น หากไทยสามารถยกระดับแพลตฟอร์มของไทยเองก็จะช่วยให้มีทางเลือกมากขึ้น


ส่วนนายอมรินท์ ศาลากิจ ผู้ประกอบการบันดาหยารีสอร์ท และตัวแทนชมรม ผู้ประกอบการหลีเป๊ะ กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังเกาะหลีเป๊ะ ลดลงประมาณ 20-30% โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม ซึ่งเดิมจะมียอดการจองสูง แต่ปัจจุบันลดลงจากหลายสาเหุตทั้งเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักเดิมซึ่งเป็นชาวยุโรปลดลง และเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต รวมถึงเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการในชมรมที่มีอยู่ประมาณ 100 ราย ได้รับผลกระทบ


การท่องเที่ยวหลีเป๊ะมีการจ้างงานนับพันคน สร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 60% ของรายได้จังหวัดสตูล แต่ปัจจุบันลดลง 20-30% จากปกติที่มีนักท่องเที่ยว เดินทางเข้ามาปีละ 3-4 แสนคน และเคยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเฉลี่ยปีละ 7,000 ล้านบาท เมื่อ 3 ปีก่อน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 4,000 ล้านบาท 


สำหรับจังหวัดสตูลเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ที่มีพรมแดนติดรัฐเกดะห์ในประเทศมาเลเซียทำให้เป็นสถานที่ที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ โดยในแง่ของการท่องเที่ยว จังหวัดสตูลมีรายได้จากการท่องเที่ยวเฉลี่ย 2,600,000,000 บาทต่อปี โดยขณะนี้มีโรงแรมและรีสอร์ทจำนวน 67 แห่งคอยให้บริการและรองรับนักท่องเที่ยว
Comments